อังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 12[1] ของ อังกฤษในสมัยกลางยุครุ่งโรจน์

เฮนรีที่ 1

หลังการตาย "โดยอุบัติเหตุ" ของวิลเลียมรูฟัส พระอนุชาของพระองค์ เฮนรี ยึดท้องพระคลังหลวงในวินเชสเตอร์และได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษ พระเชษฐาของพระองค์ โรเบิร์ต ได้เป็นดยุคแห่งนอร์ม็องดี

เฮนรีที่ 1 เสด็จพระราชสมภพในปี ค.ศ. 1068 และพระองค์ได้รับการศึกษาอย่างดี เมื่อยึดบัลลังก์มาได้ พระองค์ออกกฎบัตรสัญญาว่าจะปกครองด้วยความยุติธรรม พระองค์ยังได้รับความนิยมจากไพร่ฟ้าประชาชนชาวแซ็กซันจากการแต่งงานกับอีดิธ ลูกหลานของพระเจ้าเอ็ดมุนด์ผู้ทนทาน ที่สำคัญที่สุด พระองค์ยังเคารพในศาสนจักร

การจมของเรือขาวในช่องแคบอังกฤษ ใกล้ชายฝั่งนอร์ม็องดี นอกบาร์เฟลอร์ เมื่อ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1120

เฮนรีพิสูจน์ให้เห็นว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีพระปรีชาสามารถ พระองค์มักขัดแย้งกับพระเชษฐา โรเบิร์ต ดยุคแห่งนอร์ม็องดี ในปี ค.ศ. 1101 โรเบิร์ตบุกอังกฤษ ขึ้นฝั่งที่อ่าวพอร์ตสมัธ แต่สนธิสัญญาอัลทอนทำให้พระองค์ยอมกลับบ้านไปอีกครั้ง ทว่าสันติสุขคงอยู่ได้ไม่นาน ในปี ค.ศ. 1105 เฮนรีบุกนอร์ม็องดี ในปี ค.ศ. 1106 พระองค์ชนะสมรภูมิแต็งเชอเบร (ไพร่ฟ้าประชาชาวแซ็กซันของพระองค์มองว่าสมรภูมินี้คือการแก้แค้นให้กับสมรภูมิเฮสติงส์) เฮนรียังจับกุมตัวพระเชษฐา โรเบิร์ต พระองค์ถูกจองจำจนถึงปี ค.ศ. 1134 ที่ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุ 80 พรรษา

เฮนรียังตั้งสวนสัตว์หลวงขึ้นมาในอังกฤษโดยมีสัตว์แปลกอย่างสิงโต, เสือดาว, ลิงซ์, อูฐ และเม่น

ในขณะเดียวกันเฮนรีมีพระโอรสคนเดียวชื่อวิลเลียม ในปี ค.ศ. 1119 กษัตริย์แห่งฝรั่งเศสยอมรับวิลเลียมเป็นทายาทในบัลลังก์อังกฤษและทายาทในตำแหน่งดยุคแห่งนอร์ม็องดี ทว่าวิลเลียมจมน้ำสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1120 เมื่อเรือของพระองค์ เรือขาว อับปาง ทิ้งให้เฮนรีไม่เหลือทายาท ก่อนจะสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1135 เฮนรีให้เหล่าบารอนสัญญาว่าจะยอมรับพระธิดาของพระองค์ มาทิลดา เป็นพระราชินี

ทว่าเมื่อเฮนรีสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1135 พระนัดดาชาย (ลูกชายของพี่น้อง) ของพระองค์ สตีเฟน ก็อ้างสิทธิ์ในบัลลังก์เช่นกันและบารอนหลายคนสนับสนุนพระองค์ มาทิลดาอยู่ต่างแดนในตอนที่พระบิดาสิ้นพระชนม์ สตีเฟนจึงได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษ แต่มาทิลดาก็ไม่ยอมวางมือจากการอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์และพระองค์เองก็มีผู้สนับสนุนหลายคนเช่นกัน ส่งผลให้สงครามกลางเมืองอันยาวนานเกิดขึ้น ซึ่งจะอยู่ไปจนถึงปี ค.ศ. 1154 ช่วงเวลาหลายปีนี้ถูกเรียกว่า "ฤดูหนาวอันยาวนานทั้งสิบเก้าฤดู" การต่อสู้จบลงไม่นานก่อนสตีเฟนจะสิ้นพระชนม์ เมื่อพระองค์ยอมรับให้บุตรชายของมาทิลดา เฮนรี เป็นทายาทของตน หลังพระเจ้าสตีเฟนสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1154 บุตรชายของมาทิลดากลายเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 2

เฮนรีที่ 2

พระเจ้าเฮนรีที่ 2 เป็นกษัตริยแพลนทาเจเนตคนแรก พระองค์เสด็จพระราชสมภพที่เลอม็องส์ในประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1133 พระองค์เป็นชายมีการศึกษาสูงที่เป็นที่รู้กันว่ามีอารมณ์รุนแรง

ทว่าเฮนรีไม่ได้ปกครองแค่อังกฤษ พระองค์ยังปกครองพื้นที่ขนาดใหญ่ของฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1150 พระองค์เป็นดยุคแห่งนอร์ม็องดี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1151 พระองค์เป็นเคานต์แห่งอ็องฌู การแต่งงานกับเอลินอร์แห่งอากีแตนทำให้พระองค์กลายเป็นขุนนางเจ้าของที่ดินส่วนดังกล่าวของฝรั่งเศส ต่อมาพระองค์กลายเป็นผู้ปกครองของบริตทานี ในวัยผู้ใหญ่เฮนรีใข้เวลาอยู่ในฝรั่งเศสมากกว่าในอังกฤษ

เฮนรีพิสูจน์ให้เห็นว่าทรงเป็นกษัตริย์ผู้แข็งแกร่ง ในช่วงสงครามกลางเมืองบารอนหลายคนได้สร้างปราสาทขึ้นมาแบบผิดกฎหมาย เฮนรีให้พวกเขารื้อถอนออก อีกทั้งเฮนรียังได้ปฏิรูปกฎหมาย พระองค์แต่งตั้งผู้พิพากษาขึ้นมาให้เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อไต่สวนคดีผิดกฎหมายร้ายแรง

ภาพวาดต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ขงเฮนรีกับโธมัส เบ็คเก็ต

ทว่านักบวชมีสิทธิ์ในการขึ้นศาลของตัวเองซึ่งบทลงโทษมักเบามาก เฮนรีรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมและพระองค์พยายามบีบนักบวชให้ยอมขึ้นศาลของพระองค์ แต่แน่นอนว่าพวกเขาต่อต้าน เฮนรีจึงให้สหายของพระองค์ โธมัส เบ็คเก็ต เป็นอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์บรี ทว่าทันทีที่ได้รับการแต่งตั้ง เขาปฏิเสธที่จะทำตามคำขอของกษัตริย์

ในปี ค.ศ. 1170 ขณะที่เฮนรีอยู่ในนอร์ม็องดี พระองค์โกรธจนขาดสติและตะคอกออกมาว่า "ไม่มีใครคิดจะกำจัดนักบวชตัวปัญหาคนนี้ให้ข้าเลยหรือ" อัศวินสี่คนถือว่านั่นเป็นคำสั่งและไปอังกฤษเพื่อสังหารเบ็คเก็ตในอาสนวิหารแคนเทอร์บรี ผู้คนมีความคิดเป็นลบกับการฆาตกรรมครั้งนี้ พระองค์จึงแสดงสำนึกบาปด้วยการเดินเท้าเปล่าไปแคนเทอร์บรีให้นักบวชเฆี่ยนหลังที่เปลือยเปล่าของพระองค์

เฮนรียังมีปัญหากับพระโอรสเพราะพระองค์ปฏิเสธที่จะมอบอำนาจที่แท้จริงให้ พระองค์มีพระโอรสธิดา 8 คนและมีที่สิ้นพระชนม์ในวัยเด็ก 4 คน (ซึ่งไม่ถือว่าผิดปกติในยุคกลางที่อัตราการเสียชีวิตของทารกมีสูงมาก) พระโอรสสี่คนที่รอดชีวิต คือ เฮนรี เจฟฟรีย์ ริชาร์ด และจอห์น พระโอรสคนสุดท้อง ในปี ค.ศ. 1173 – 1174 เฮนรีเผชิญกับการก่อกบฏของพระโอรสคนโตทั้งสามที่มีพระมารดาคอยให้การช่วยเหลือ เฮนรีปราบกบฏได้ พระองค์ให้อภัยพระโอรส ทว่าพระมเหสีของพระองค์ถูกคุมขังตลอดรัชสมัยที่เหลือของเฮนรี

พระโอรสของเฮนรี เฮนรี สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1183 และพระโอรส เจฟฟรีย์ สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1186

ในปี ค.ศ. 1189 เฮนรีเผชิญกับการก่อกบฏอีกครั้ง ครั้งนี้พระโอรสคนสุดท้อง จอห์น ร่วมก่อกบฏด้วย เรื่องนี้ทำให้เฮนรีใจสลายและเฮนรีสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1189

ริชาร์ดที่ 1

ริชาร์ดกำลังรับการเจิมน้ำมันระหว่างการราชาภิเษกในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ จากพงศาวดารในคริสต์ศตวรรษที่ 13

กษัตริย์คนต่อมา พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 เสด็จพระราชสมภพในปี ค.ศ. 1157 ในตอนที่มีชีวิตอยู่ พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ได้รับความนิยมเพราะทรงเป็นนักรบที่ประสบความสำเร็จ ทว่าทรงทิ้งประเทศไปต่อสู้ในสงครามต่างแดน

ซาลาดินยึดเยรูซาเล็มได้ในปี ค.ศ. 1187 ริชาร์ดจึงตั้งใจว่าจะเอามันกลับคืนมา พระองค์ทิ้งอังกฤษไปทันทีที่ทำได้ในปี ค.ศ. 1190 ทรงไปถึงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในปี ค.ศ. 1191 ริชาร์ดพอจะประสบความสำเร็จอยู่บ้างแต่ทรงล้มเหลวในการเข้ายึดเยรูซาเล็ม เป้าหมายหลักของพระองค์ ในปี ค.ศ. 1192 พระองค์ทำสนธิสัญญากับซาลาดิน

ทว่าระหว่างเดินทางกลับบ้านพระองค์ถูกดยุคแห่งออสเตรียจับเป็นนักโทษ ไพร่ฟ้าประชาชนของริชาร์ดถูกบีบให้จ่ายค่าไถ่ก้อนโตเพื่อไถ่ตัวพระองค์ (ในปี ค.ศ. 1194) หลังได้รับการปล่อยตัว ริชาร์ดกลับไปอังกฤษแต่ไปนานพระองค์ก็ออกเดินทางไปนอร์ม็องดี พระองค์ไม่หันกลับมามองอังกฤษอีกเลย ขณะกำลังปิดล้อมปราสาท ริชาร์ดถูกยิงด้วยหน้าไม้ พระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1199 และคนที่ขึ้นครองตำแหน่งต่อจากพระองค์คือพระอนุชา พระเจ้าจอห์น

ใกล้เคียง

อังกฤษในสมัยกลางยุครุ่งโรจน์ อังกฤษสมัยแองโกล-แซกซัน อังกฤษสมัยแองโกล-นอร์มัน อังกฤษ อังกฤษ (แก้ความกำกวม) อังกฤษอเมริกัน อังกฤษสมัยสจวต อังกฤษดั้งเดิม อังกฤษก่อนประวัติศาสตร์ อังกฤษอิงแลนด์